นิรันดร์ ค้าโค g4

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปราสาทเขาพระวิหาร


ปราสาทพระวิหาร



ปราสาทพระวิหาร (​เขมร: ប្រាសាទ​ព្រះវិហារ; เปรี๊ยะ วิเฮียร์ - สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์; อังกฤษ: Temple of Preah Vihear) เป็นปราสาทหินตามแบบศาสนาฮินดูที่ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก (ภาษาเขมรว่า พนมดงเร็ก อันหมายถึง ภูเขาไม้คาน) สูงจากระดับทะเลปานกลาง 657 เมตร ที่ตั้งของศาสนสถานแห่งนี้รู้จักกันในนาม พนมพระวิหาร อันหมายถึง บรรพตแห่งศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ อันเป็นทางขึ้นสู่ปราสาทที่สะดวกที่สุด
ปราสาทพระวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบเขมร สร้างตามแนวเหนือใต้ซึ่งผิดแปลกไปจากปราสาทขอมส่วนใหญ่ ไทยและกัมพูชามีประวัติพิพาทเหนือตัวปราสาทเป็นเวลานานแล้ว ใน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาท (ดู คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505) และวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในประเทศกัมพูชา



ปราสาทพระวิหารประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก เทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ครั้นเมื่อนครหลวงของอาณาจักรขอมอยู่ใกล้ คือ ที่นครวัด นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบบางประการในรูปแบบศิลปะของปราสาทบันทายศรี ตามหลักจารึกที่ค้บพบ 3 หลักคือ จารึกศิวะศักติ จารึกหมายเลข K380 และ K381 เชื่อว่าเริ่มก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1432-1443) และเป็นรูปร่างเมื่อในสมัยพระเจ้ายโศวรมัน ซึ่งสถาปนาศรีศิขเรศวร ในปี พ.ศ. 1436 แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ของปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (มีพระนามจารึกที่กรอบประตูโคปุระชั้นที่ 2 ว่า "สูรยวรรมเทวะ" และปีที่สร้างแล้วเสร็จในสมัยของพระองค์ตามจารึกคือ พ.ศ. 1581) และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 ตามลำดับ ปราสาทพระวิหารสร้างด้วยศิลาทรายซึ่งสกัดจากบริเวณเทือกเขาพนมดงรักนี้ และวัสดุก่อสร้างอื่น ได้แก่ อิฐเผาและ "ไดทะมะป้วก" (ดินเหนียวคล้ายหิน) ปัจจุบันปราสาทหลงเหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง แต่ทว่ายังมีอาคารปราสาทเหลืออยู่อีกหลายแห่ง


อ้างอิงจาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น